การติดตั้ง OpenJDK

      สำหรับ JDK ที่เราเลือกใช้จะเป็น OpenJDK ของ BellSoft Liberica JDK ซึ่งจะผนวก JavaFX API มาให้ด้วยในขณะที่ JDK ของรายอื่นจะทำตามมาตรฐานของ Oracle คือถอด JavaFX API ออกจาก Java JDK ตั้งแต่ JDK เวอร์ชั่น 9 เป็นต้นไป โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://bell-sw.com/pages/downloads/ 

     โดยเลือกดาวน์โหลดเวอร์ชั่นล่าสุดที่เป็น LTS ตามระบบปฏิบัติการที่ใช้งาน 

     เราอาจจะเลือกใช้ OpenJDK จากเวนเดอร์รายอื่นก็ได้ ซึ่งทุกอันจะใช้งานได้ฟรีภายใต้ไลเซ่นท์โอเพ่นซอร์สเช่นกัน เช่น Oracle Open JDK, Red Hat build of OpenJDK, Amazon Coretto OpenJDK, Microsoft build of OpenJDK

การติดตั้งและใช้งาน IntelliJ IDEA

     สำหรับแอพพลิคชั่น IDE เราเลือกใช้ IntelliJ IDEA ที่เป็นเวอร์ชั่นชุมชนนักพัฒนา (community version) ซึ่งสามารถใช้งานได้ฟรี

ไปที่ https://www.jetbrains.com/idea/ เลือก download 

เลือก download จาก community version

     หน้าเว็บจะให้เลือกดาวน์โหลดเวอร์ชั่นที่เหมาะสมกับระบบปฏิบัติการของเรา ถ้าใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows) จะได้ไฟล์ .exe ซึ่งสามารถดับเบิ้ลคลิกที่ไฟล์เพื่อติดตั้งโปรแกรมได้เลย ถ้าใช้ระบบปฏิบัติการแมคโอเอส (macOS) จะได้ไฟล์ .dmg ซึ่งเป็นไฟล์อิมเมจ ให้เมาท์ไฟล์เป็นดิสก์แล้วสำเนา IntelliJ IDEA ไปที่โฟลเดอร์ Application ถ้าใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ (Linux) จะได้ไฟล์ .tar.gz  ให้ขยายไฟล์ที่ได้และรันไฟล์ idea.sh เพื่อติดตั้งโปรแกรม หรือเลือกจากคลังซอฟต์แวร์ (repository) ของลินุกซ์แต่ละดิสโทรได้เลย

ตั้งค่า IntelliJ IDEA ให้เรียกใช้งาน JDK

     เนื่องจากโปรแกรม IntelliJ IDEA มีการปรับปรุงอยู่เสมอซึ่งหน้าจอแรกจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระยะๆ ดังนั้นในการตั้งค่าจะใช้การเข้าโปรแกรมและไปตั้งค่าจากเมนูด้านในดังนี้ 

    เลือก New Project

     เลือก Java จากนั้นคลิกที่ช่อง Project SDK และเลือก Add JDK

     เลือกไดเร็คทอรี่ที่เราติดตั้ง JDK ไว้ และกดปุ่ม OK 

     จากนั้นคลิกปุ่ม Next

     เลือก Create project from template และกด Next 

     ระบุชื่อโครงงานในช่อง Project Name และกด Finish ชื่อของโครงงานควรจะสื่อถึงโปรแกรมของเราว่าทำอะไร ชื่อของโครงงานต้องขึ้นต้นด้วยตัวอักษรใหญ่เท่านั้นและต้องไม่มีช่องว่าง (space) ในชื่อโครงงาน การแบ่งคำในชื่อโครงงานทำได้โดยการใช้การตัวอักษรใหญ่ขึ้นต้นแต่ละคำเพื่อให้อ่านง่าย

     จากนั้นจะเข้าสู่หน้าจอสำหรับเขียนโปรแกรม

     ไปที่เมนู FIle > Project Structure…

     ไปที่ Platform Settings > SDKs หากไม่พบ SDK ที่ติดตั้งไว้ (สังเกตุจากช่อง JDK home path ว่าต้องเป็นพาธที่เราติดตั้งไว้) ให้กด + และเลือกพาธที่เราติดตั้ง JDK ไว้ ในกรณีที่เรามี JDK หลายเวอร์ชั่นเราสามารถตั้งชื่อในช่อง Name เพื่อป้องกันความสับสนได้

      ไปที่ Project Settings > Project ที่หัวข้อ Project SDK ให้เลือก JDK ที่ติดตั้งไว้ และที่หัวข้อ Project Language Level ให้เลือก 11 – Local Variable…. จากนั้นกด OK ที่ด้านล่างหน้าจอเพื่อบันทึกการตั้งค่า 

     การกำหนดค่าในหัวข้อ Project Language Level จะเป็นการบอกให้ IntelliJ IDEA ช่วยตรวจสอบความเข้ากันได้ของโปรแกรมที่เราเขียนกับเวอร์ชั่นที่กำหนด เช่นในกรณีที่เราต้องปรับปรุงแอพพลิเคชั่นที่เขียนด้วยจาวาเวอร์ชั่น 8 เราจะกำหนดให้เป็น 8 – Lambdas ….  แต่ถ้าเราเขียนแอพพลิเคชั่นขึ้นมาใหม่เลย เราสามารถเลือกให้ตรงกับเวอร์ชั่นที่ใช้งานจริงได้ เช่น 11 – Local Variable…. เพื่อที่จะได้ใช้ความสามารถใหม่ๆที่มีมาในจาวาเวอร์ชั่นที่ใหม่กว่า

     ไปที่เมนู FIle > Setting

     จากนั้นให้เลือก Editor > General > Auto Import และกำหนดค่าตามตัวอย่าง

  จากนั้นให้เลือก Editor > General > Appearance  และกำหนดค่าตามตัวอย่าง

     จากนั้นให้เลือก Editor > General > Code Folding  และกำหนดค่าตามตัวอย่าง

     จากนั้นให้เลือก Appearance & Behavior > System Settingd และกำหนดไดเร็คทอรี่ที่ต้องการเก็บโครงงานตามที่ต้องการ จากนั้นกด OK ที่ด้านล่างเพื่อบันทึกการตั้งค่า

การเริ่มเขียนโปรแกรมด้วย IntelliJ IDEA

     การเขียนโปรแกรมโดยใช้  IntelliJ IDEA คือการสร้างโครงงาน (Project) ขึ้นมา โดยทำตามขั้นตอนดังนี้

     เลือก Create New Project

     เลือก Java > Corretto-11 และกด Next 

     เลือก Create project from template และกด Next 

     ระบุชื่อโครงงานในช่อง Project Name และกด Finish ชื่อของโครงงานควรจะสื่อถึงโปรแกรมของเราว่าทำอะไร ชื่อของโครงงานต้องขึ้นต้นด้วยตัวอักษรใหญ่เท่านั้นและต้องไม่มีช่องว่าง (space) ในชื่อโครงงาน การแบ่งคำในชื่อโครงงานทำได้โดยการใช้การตัวอักษรใหญ่ขึ้นต้นแต่ละคำเพื่อให้อ่านง่าย เช่น HelloWorld เป็นต้น

     จากนั้นจะเข้าสู่หน้าจอสำหรับเขียนโปรแกรม

การใช้งาน IntelliJ IDEA เบื้องต้น

     หน้าจอในการทำงานของ IntelliJ IDEA จะคล้ายกับแอพพลิเคชั่นทั่วๆไปคือมีเมนูอยู่ด้านบนและมีพื้นที่การทำงานอยู่ด้านล่าง ส่วนที่เราจะใช้งานหลักๆจะเป็นตามภาพด้านล่าง

IntelliJ IDEA ช่วยเราเติมเต็มคำสั่งต่างๆ

     เวลาที่เราเขียนคำสั่งต่างๆโปรแกรม IntelliJ IDEA จะช่วยเราเติมเต็มคำสั่งนั้นๆโดยแสดงรายการของคำสั่งขึ้นมาให้เราเลือกโดยไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์ทั้งคำสั่งเอง ตัวอย่างเช่น

     นอกจากช่วยเติมเต็มคำสั่งต่างแล้วยังรวมไปถึงการแสดง คลาส เมธอด และ ตัวแปร ที่เราสามารถเลือกใช้ได้ในขณะนั้น โดยจะแสดงสัญญลักษณ์ด้านซ้ายว่าแต่ละอันเป็นอะไร เช่น  m คือเมธอด c คือคลาส และ f คือฟิลด์ เป็นต้น ตามด้วยรูปกุญแจเพื่อบอกชนิดของตัวควบคุมการเข้าถึง (access modifier) โดยรูปกุญแจล๊อคคือ private ถ้าไม่ล๊อคคือ public และตามด้วยชื่อคลาส เมธอดและฟิลด์ ในกรณีที่เป็นเมธอดจะแสดงด้วยว่ารองรับพารามิเตอร์แบบใด และด้านขวาสุดคือชนิดของข้อมูลที่ส่งกลับ

     เนื่องจากในหลักภาษาของภาษาจาวามีรายละเอียดปลีกย่อยในการเขียนโปรแกรมที่เราอาจจะจำได้ไม่หมด และในหนังสือเล่มนี้ก็จะไม่ได้ลงรายละเอียดในทุกๆเรื่องหรือทุกๆเงื่อนไข แต่ด้วยความสามารถของโปรแกรม IntelliJ IDEA ที่ช่วยเราตรวจสอบด้านหลักภาษาอยู่แล้ว ดังนั้นหากเราเขียนโปรแกรมผิดไปจากที่หลักภาษากำหนดโปรแกรม IntelliJ IDEA จะแจ้งเราเรื่องข้อผิดพลาดอยู่แล้วพร้อมด้วยคำอธิบายเหตุผลของข้อผิดพลาด

     ในหน้าจอการเขียนโปรแกรม ในกรณีที่ตัวแปรหรือเมธอดที่เราสร้างขึ้นมาไม่ถูกนำไปใช้งานในส่วนอื่นของโปรแกรม IntelliJ IDEA จะแสดงเป็นตัวอักษรสีเทาซึ่งหากไม่มีการใช้งานจริงๆก็ควรลบออกไป

IntelliJ IDEA ช่วยตรวจสอบให้เรา

     IntellJ IDEA จะช่วยตรวจสอบความถูกต้องในการเขียนโปรแกรมให้เรารวมถึงให้คำแนะนำในการเขียนโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพให้กับเรา ตัวอย่าง

เช่น โปรแกรมจะแสดงขีดสีแดงที่ท้ายบรรทัดเพื่อแสดงว่ามีข้อผิดพลาด และจะแสดงอักษรสีแดงหรือขีดเส้นใต้สีแดงในจุดที่มีข้อผิดพลาด ซึ่งข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นข้อผิดพลาดตามหลักภาษาในภาษาจาวา เราสามารถชี้เมาส์ที่ขีดสีแดงเพื่อดูคำแนะนำได้

     สำหรับคำแนะนำในการเขียนโปรแกรมจะแสดงด้วยขีดสีเหลืองและมีรูปหลอดไฟหน้าบรรทัดที่ให้คำแนะนำ บางครั้งคำแนะนำจะบอกถึงการมีโอกาสพบข้อผิดพลาดในขั้นตอนการใช้งาน (runtime error ) เราสามารถชี้เมาส์ที่ขีดสีเหลืองหรือรูปหลอดไฟเพื่อดูคำแนะนำได้ 

     เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจจะพบได้ในขั้นตอนการใช้งาน (runtime error) จึงควรแก้ไขโปรแกรมตามที่ IntelliJ IDEA แนะนำจนกว่าจะไม่มีข้อผิดพลาดและคำแนะนำเหลืออยู่ โดยแสดงเป็นเครื่องหมายถูกสีเขียวที่มุมบนขวา

การสั่ง run โปรแกรมใน IntelliJ IDEA

     การสั่ง run โปรแกรมใน IntelliJ IDEA สามารถทำได้จากหลายจุดในหน้าจอตามภาพด้านล่าง การสั่ง run ก็คือการคอมไพล์โปรแกรมที่เราเขียนและเรียกใช้งานภายใต้สิ่งแวดล้อมของ IntelliJ IDEA นั่นเอง

     สิ่งที่สำคัญในการเรียนภาษาโปรแกรมให้มีประสิทธิภาพคือการฝึกเขียนโปรแกรมตามแต่ละตัวอย่างตามไปด้วย และทดลองแก้ไขโปรแกรมเพื่อดูผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป การปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยให้เราคุ้นเคยกับการใช้งาน IntelliJ IDEA และเพิ่มความมั่นใจในการเขียนโปรแกรมมากขึ้น